วันที่ 10 ธันวาคม 2564
ผมได้รับเชิญให้ไปลงเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ลำแรกของย่านบางใหญ่ บางบัวทอง นนทบุรี เพื่อร่วมกับทีมทูตอารยสถาปัตย์กรุงเทพฯ ที่มาสำรวจแหล่งท่องเที่ยว ‘’คลองอ้อมนนท์ ‘’ในละแวกบ้านผมเอง
กิจกรรมครั้งนี้จัดโดย ทีมคุณต้น มงคล ช่อสุวรรณร่วมกับพี่เจ้าของเรือ คุณสืบตระกูล วิศวกรที่นำเรือลากจูงเก่ามาติดระบบมอเตอร์ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยวันนี้ท่านอาสามาขับเรือให้เอง และมีพี่โก้ คนเล่าเกร็ดสนุกๆ เจ้าของร้านอาหาร Three Mangoes ย่านถนนพระรามห้า ท่านรักชีวิตชาวคลอง มีความรู้เรื่องประวัติวัดและชุมชนย่านนี้ดี ท่านยังได้ชวนเจ้าของ Chaopraya Watersport Center และ เจ้าของร้าน ณ ชานเรือนสมฤดี ริมคลองอ้อมนนท์ มาร่วมลงเรือเพื่อช่วยกันอรรถาธิบายเรื่องเล่าและตำนานอันทรงเสน่ห์ของย่านนี้ผ่านวิถีชาวคลองอ้อมนนท์ ให้เราฟัง
ส่วนทีมทูตอารยสถาปัตย์นำโดยคุณหนึ่ง ปิยะบุตร เทียนคำศรี จากบางเขน กรุงเทพกับอีกหนุ่มใหญ่คุณนรินท์ บ้านอยู่ใกล้คลองสายนี้ พร้อมสองสาวบนวีลแชร์ ชื่อคุณเจี้ยบทั้งคู่
คลองอ้อมนนท์นั้น ที่จริงก็คือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมนั่นเอง แต่เพราะเจ้าพระยาสายเดิมในช่วงผ่านนนทบุรีนั้นวกขดคดเคี้ยวไปมา จนสมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือเกือบ400ปีที่แล้ว ท่านทรงให้ขุดคลองตัดตรงให้เดินเรือจากนนทบุรีเข้าสู่ย่านบางกอก ปรากฏว่าร่นระยะเวลาพายเรือเข้าบางกอกไปออกปากอ่าวได้เป็นวันๆ
เรือจึงไม่ค่อยได้ใช้เส้นทาง อ้อมนนท์สายเดิม จนทำให้ลำน้ำค่อยๆแคบลงเหลือสภาพเป็นคลองอย่างในปัจจุบันนี้นี่เอง
ตกลงวันนี้เท่ากับเราได้มาสำรวจเส้นทางวัฒนธรรมชาวนนทบุรีริมลำน้ำเจ้าพระยาสายดั้งเดิม
สภาพคลองยังงดงาม คุณภาพน้ำดีทีเดียว ขยะน้อย ปลาชุม ตลิ่งยังสะอาดตา
สองฝั่งของคลองเป็นเรือนอาศัยชาวบ้านที่ทยอยมีร้านกาแฟและร้านอาหารแนวชิคๆชิลล์ๆมาตั้งเป็นช่วงๆ แต่ยังไม่มีใครขึ้นป้ายโฆษณาสินค้าอะไรใหญ่โตจนเสียบรรยากาศ
ส่วนวัดตามแนวริมคลองนี้มีมากมายเสียจนอาจคาดได้ว่าเป็นช่วงคุ้งน้ำความยาวไม่กี่กิโลเมตรที่มีวัดเก่าอยู่ถี่มากๆสุดแห่งหนึ่งของประเทศก็คงได้ คือมีถึง29วัดที่พอนับกันได้ว่าติดริมคลองนี้ทีเดียวเชียว นี่ยังไม่นับวัดตามลำน้ำแขนง คลองซอยอีกมากมายนะครับ
บางวัดเก่า ที่เรือผ่านวันนี้อย่างวัดปรางค์หลวง พบพระปรางค์อายุ600ปี นับเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลด้วยซ้ำ สร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ต้นสมัยอยุธยา ส่วนวัดโบสถ์บน อายุกว่า260ปี ก็เป็นวัดที่สมเด็จพระพุทธาจารย์โต พรหมรังสี แห่งวัดระฆังท่านเคยมาจำวัดที่นี่ในยามที่จะเดินทางไปทางไกลต่อ และได้สร้างพระประธาน สร้างพระพุทธบาทจำลอง และก็เป็นวัดโบสถ์เดียวกันนี่แหละที่หลวงพ่อสดเคยมาบำเพ็ญสมาธิจนในที่สุดบรรลุธรรม พบวิชาธรรมกายที่วัดนี้
คลองอ้อมนนท์นี้ยาวเพียง 17.5 กิโลเมตร และก็คือต้นคลองของคลองบางกอกน้อยที่เราคุ้นเคยนี่แหละ เพียงแต่คลองอ้อมนนท์จะเปลี่ยนชื่อเรียกก็เมื่อน้ำไหลผ่านบางกรวยว่าคลองลัดบางกรวย แล้วจึงเรียกว่าคลองบางกอกน้อยหลังผ่านบางกรวยไปแล้วอีกที
ท่านที่สนใจอ่านรายละเอียดต้องขอเชิญให้ค้นออนไลน์คำว่า คลองอ้อมนนท์ แล้วจะพบข้อมูลแบบอเมซิ่งนนทบุรีให้อ่านต่ออีกเพียบแปร้
สิ่งที่อยากบอกคือ แค่นั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงออกมา ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จก็จะใกล้จุดลงเรือที่เราเริ่มต้นที่ ริมเจ้าพระยาแล้ว
นั่งเรือเลาะจากแม่น้ำไปผ่านประตูบังคับน้ำเข้าคลองอ้อมนนท์โดยใช้เวลาอีกแค่ 10 นาที ท่านก็จะหายวับเข้าสู่บรรยากาศเก่าย้อนยุคที่นึกไม่ถึง
บ้านสวนผลไม้ สวนเกษตร และสิ่งปลูกสร้างแปลกตาจะทยอยปรากฎให้เห็นไปตามลำดับ เรือด่วนเรือดังจะไม่ใคร่มีให้เห็น มีเพียงเรือแจว เรือขายก๋วยเตี๋ยว ขายเป็ดพะโล้เป็ดย่างฝีมือคนท้องถิ่นแล่นมาเป็นบางช่วง
มีพระนั่งเรือไปตามกิจนิมนต์ มีร้านของชำ มีโรงนึ่งปลาทูสดเจ้าดัง มีหุ่นปั้นพระเจ้าตากสินดูเก่าแก่ตั้งบูชาบนชานเรือนไม้เก่าคร่ำคร่า
ในระหว่างทาง เราได้เห็นทีมน้องๆนักกีฬาเรือพายหลายๆคนกำลังลงฝึกซ้อมในลำคลองอ้อมนนท์นี้ด้วย คงเพราะในลำคลองนี้ไม่ค่อยมีเรือใหญ่ ไม่มีเรือบรื๋อแล่นเยอะ จึงมีทั้งคายัคแข่งขัน มีซับบอรด์ มีเรือยาว มีเรือพายสำหรับแข่งแบบต่างๆที่กำลังเตรียมออกฝึกซ้อมอีกหลายๆลำพอให้ได้ยิ้มให้กำลังใจกัน
วันนี้ทีมทูตอารยสถาปัตย์นั่งเรือแล่นชมทัศนียภาพประกอบคำบรรยายไปแบบมีลมเย็นมาปะทะเบาๆตลอดทาง เรือไฟฟ้ามีข้อดีที่แล่นไม่เร็ว ทำให้เรามีเวลาชี้ชวนดูสองข้างทางได้ทัน คลื่นเรือก็เบา เสียงเรือก็เงียบ ชาวบ้านริมตลิ่งจึงไม่รำคาญ แถมเราในเรือคุยกันก็ไม่ต้องตะเบ็งเสียงแข่งกับเครื่องเรือ ไม่มีไอร้อนเครื่องยนต์ ไม่มีอาการสั่นของเครื่องยนต์ ไม่มีกลิ่นเหม็นทั้งจากน้ำมัน ไม่มีไอเสีย แถมไม่ร้อนระอุจากแดดเพราะเหนือหลังคาไม้ของเรือยังมีแผงโซลาร์เซลล์บังแดดและรังสียูวีให้ตลอดความยาวหลังคาอีกชั้นหนึ่ง
ระหว่างทางเราได้ชิมเมี่ยงกลีบบัว ที่เจ้าของปลูกเองทุกส่วนผสมรวมทั้งบัวที่ท่านปลูกเอง ได้ชิมกาแฟที่ท่านนำมาส่งให้ถึงบนเรือ ได้แวะจอดทานข้าวต้มเครื่อง ทานก๋วยจั้บ ทานเกาเหลา และอะไรจิปาถะตามท่าตลาดน้ำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะหิวตลอดทาง
ครั้นพอสมาชิกผู้นั่งวีลแชร์อยากขอแวะเข้าห้องน้ำ ก็ให้น่าตื่นเต้นที่ในลำคลองนี้มีผู้มาลงทุนสร้างรีสอร์ต และโฮมสเตย์หลายแห่ง ดีไซน์รับกับแนวสถาปัตยกรรมของพื้นที่ ให้เราเลือกไปเยี่ยมขอใช้ห้องน้ำวีลแชร์ได้
วันนี้เราเลือกไปขอเยี่ยมใช้ห้องน้ำอารยสถาปัตย์ของโรงแรม ดับบลิววัน แอท บางกอกน้อย ท่าเทียบเรือเนี้ยบดี มีทางลาดด้านบน เหลือแค่เราต้องยกรถเข็นออกจากเรือไปตั้งรอบนฝั่ง แล้วอุ้มคุณเจี้ยบ ผู้ใช้วีลแชร์พาก้าวออกจากเรือ เดินขึ้นบันไดสามขั้นเพื่อเปลี่ยนระดับไปอยู่บนตลิ่งผิวทรายล้างของโรงแรมซึ่งมีสระว่ายน้ำ จากนั้นสามารถเข็นผ่านทางเรียบสนิทไปจนเข้าห้องน้ำวีลแชร์ข้างสระว่ายน้ำได้อย่างสบายๆ
ปล.ห้องน้ำที่นี่ปรับอากาศเย็นฉ่ำเลยครับ
ทีมเจ้าหน้าที่พนักงานของโรงแรมในชุดยูนิฟอรม์น่ารักมาก มีทั้งทีมชายมาช่วยยกช่วยจับให้เรือเทียบท่าได้นิ่งสนิท มีพนักงานฝ่ายหญิงมาช่วยเข็นพาทูตอารยสถาปัตย์หญิงของเราไปกลับระหว่างห้องน้ำกับท่าเทียบเรืออย่างนุ่มนวล
ที่นี่มีห้องพักแบบพูลวิลล่า มีราคาให้เลือกหลายระดับ
มีอุปกรณ์เล่นกิจกรรมวัยรุ่นทั้งทางน้ำทางบกเพียบพร้อม
ครั้งหน้าเราคงได้มาเยี่ยมกันอีก
จบท้ายทริป ด้วยการแล่นเรือไฟฟ้าเพื่อเร่งทำเวลากลับมาหาประตูควบคุมน้ำให้ทันก่อนน้ำจะขึ้นตามเวลาธรรมชาติ เพราะคานสะพานที่เราต้องลอดบางแห่งอาจจะเหลือระดับที่หลังคาเรืออาจจะขูดกับท้องสะพานได้ รวมทั้งต้องแล่นสวนผ่านประตูบังคับน้ำกลับออกแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำขึ้นยามบ่าย
แม้เรือเรามาถึงบานประตูบังคับน้ำไม่ทันเวลาน้ำขึ้น บานประตูจึงปิดแล้ว
แต่เมื่อเรือมาถึง เจ้าหน้าที่ควบคุมก็ยอมเปิดให้เรือแล่นกลับไปยังจุดตั้งต้นที่เราลงเรือได้ เพียงแต่ต้องใช้แรงเรือสักหน่อยในการแล่นสวนกระแสน้ำต่างระดับออกให้พ้นช่องประตูน้ำให้ได้
ตลอดเส้นทางยังมีขยะให้เห็นน้อยอยู่
มีผักตบลอยมาไม่มาก
สิ่งที่ต้องเห็นใจชาวคลองดั้งเดิมคือหลายๆบ้านถูกหมู่บ้านจัดสรรกว้านซื้อที่ไปจนปิดทางเข้าออกที่จะเชื่อมไปถึงหน้าถนน การขนขยะออกไปทิ้งในที่ที่มีรถเทศบาลมารับไปจึงยากลำบากขึ้นทุกที
เราได้เห็นที่นอนและโซฟาเก่าๆกองรอหาทางจัดการที่ริมระเบียงของหลายบ้าน
มีเครื่องซักผ้าผุเก่าที่คงหาทางยกไปจัดการอย่างถูกต้องได้ยากลำบากอีกหลายจุด
คงต้องช่วยคิดหาวิธีทำแผนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครในคลองต่างๆกันเป็นช่วงๆไป
อย่างไรก็ดี
เป็นอันจบกิจกรรมน่าประทับใจของวันนี้ ที่จุดตั้งต้น
จุดที่เจ้าของที่ดินริมน้ำตั้งใจจะทำท่าเทียบเรือที่มนุษย์ล้อจะสามารถขึ้นลงเรือได้อย่างสะดวกที่สุดของอีกฝั่งน้ำของเมืองนนทบุรี
ทุกคนดีใจที่ได้ร่วมกันเห็นของดีใกล้บ้าน ทั้งจากมุมท่องเที่ยว มุมกีฬา มุมสิ่งแวดล้อม มุมวัฒนธรรมถิ่น มุมประวัติศาสตร์โบราณคดี
เห็นน้ำใจของชาวอ้อมนนท์คนรักคลอง
เห็นพลังของทีมทูตอารยสถาปัตย์
และเห็นพลังของอาสาสมัครที่มาช่วยไม่เคยขาดมือเมื่อเรือเข้าเทียบฝั่ง
ขอบคุณทุกคนที่ร่วมกิจกรรม ขอบคุณผู้อ่านที่จะแชร์ต่อ
เพื่อเราจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบแห่งใหม่ใกล้กรุง
วันหนึ่งข้างหน้า เราน่าจะมาถึงจุดลงเรือได้ด้วยรถไฟฟ้าต่อด้วยจักรยาน เที่ยวคลอง ปั่นเลาะสวน ชวนดูหิ่งห้อยยามเย็น เล่นกับวังมัจฉาหน้าวัดและนั่งชมจันทร์บรรยากาศข้างคลองอันเงียบสงัด รับไอหมอกยามเช้าตรู่และใส่บาตรพระทางเรือด้วยกันได้ทุกวันทุกฤดูกาล
ขอจบรายงาน”สำรวจคลองอ้อมนนท์’’ลำน้ำดั้งเดิมของเจ้าพระยาแต่เพียงเท่านี้ครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
Comments